DeFi Layer 2 พัฒนาการสำคัญของการเงินไร้ตัวกลาง / นเรศ เหล่าพรรณราย

เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

ปี 2020 ถือเป็นปีที่เทคโนโลยี DeFi หรือ Decentralized Finance เติบโตอย่างรวดเร็วนอกเหนือจากเม็ดเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วยังได้เกิดแพลตฟอร์มการเงินไร้ตัวกลางนี้ขึ้นเป็นจำนวนมาก จนเกิดเป็นกระแส DeFi Fever โดยเฉพาะการทำ Yield Farming ที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้มากกว่าสินทรัพย์ปกติ

อย่างไรก็ตามปี 2021 กระแสการลงทุนใน DeFi เงียบลงไปมาก นอกจากประเด็นเรื่องของโปรเจกต์ที่ฉ้อโกงเกิดขึ้นจำนวนมากยังมีเรื่องของประสิทธิภาพของ DeFi Protocol ที่ยังมีข้อบกพร่องในหลายจุด ทำให้กระแสถูกตีกลับไปยัง Blockchain Games ที่มาแรงแทน

แต่ในปี 2022 ที่กำลังจะมาถึงนี้อุตสาหกรรมคริปโตน่าจะได้เห็นพัฒนาการของ DeFi หรือว่า DeFi Layer2 (จะเรียกว่าเวอร์ชั่นอัพเกรดใหม่ก็ได้) ซึ่งเริ่มจะได้เห็น DeFi Protocol ใหม่ๆเกิดขึ้นบ้างแล้ว โดยจะได้เห็นข้อบกพร่องที่ได้รับการแก้ไขในหลายจุดดังนี้

ปัญหาค่าธรรมเนียมหรือค่า Gas ที่แพง

โดยเฉพาะผู้ที่ใช้งานเชนของ Ethereum ที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมที่แพง ทำให้เกิดเชนใหม่ๆที่เข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่ค่าธรรมเนียมถูกและมีความเร็วในการทำงานที่สูงขึ้นอย่างเช่น Solana,Terra Chain ส่วน Ethereum เองก็เร่งแก้ไขปัญหาค่าธรรมเนียมที่แพงเช่นกัน ซึ่งหากแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ก็น่าจะดึงดูดนักลงทุนหน้าใหม่ให้เข้ามาใน DeFi มากขึ้น รวมถึงการที่จะเกิดโปรเจกต์ต่าง ๆ บนเชนใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น

ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงกว่าปกติ

ธุรกรรมการ Lending ใน DeFi Protocol ปัจจุบันมีข้อบกพร่องที่ผู้ขอกู้จะต้องวางสินทรัพย์ดิจิทัลมาค้ำประกันถึง 100% เช่น ต้องการกู้ 100ETH ก็ต้องวางค้ำประกันถึง 100ETH ซึ่งดูแล้วไม่สมเหตุสมผลเท่าที่ควร แต่ Lending Protocol ใน DeFi Layer 2 จะมีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวลงเพื่อให้ต้นทุนกู้ยืมลดลงหรืออาจจะไม่จำเป็นต้องวางค้ำประกันเช่นเดียวกับการกู้ยืมในรูปแบบปกติ

ปัญหาสภาพคล่องในธุรกรรม Swap บน DEX

แม้ว่า Decentralized Exchange ชั้นนำจะใช้กลไกของ Yield Farming ในการแก้ไขปัญหาสภาพคล่องการซื้อขายหรือการ Swap เหรียญ แต่ DEX ส่วนใหญ่ยังมีปัญหาในเรื่องของสภาพคล่องอยู่ดี ซึ่งปัญหาดังกล่าวน่าจะถูกแก้ไขได้ใน DeFi Layer2 ตลอดจนกลไกการสร้างผลตอบแทนที่สมเหตุสมผลมากขึ้น จึงไม่น่าจะได้เห็นผลตอบแทนสูงเว่อร์หรือฟาร์มซิ่งอีกต่อไป

การเชื่อมโยงระหว่างแต่ละบล็อกเชนที่ราบรื่นขึ้น

การเกิดขึ้นของเชนใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น Solana,Terra,Polygon Network,Avalanche ตลอดจนรายเก่าอย่าง Cardano,Polkadot สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเข้ามาเป็นตัวกลางที่จะเชื่อมโยงเชนต่าง ๆ เหล่านี้เข้าด้วยกันโดยมีค่าธรรมเนียมที่ต่ำ อย่างเช่นที่โปรเจกต์ C98 ได้ทำไว้ ปีหน้าเราจะได้เห็นการทำงานระหว่างเชนต่าง ๆ ที่สะดวกราบรื่นขึ้น

ตราสารอนุพันธ์ในแบบ Decentralized

การปิดกั้นไม่ให้ชาวจีนสามารถเข้าถึงการเทรดตราสารอนุพันธ์ของคริปโต เป็นโอกาสที่ทำให้เกิดความต้องการใน Decentralized Derivatives Protocol โดยรายแรกที่เข้ามาในตลาดนี้คือ DYDX ซึ่งถือว่าสามารถพัฒนาโปรดักต์ที่มีคุณภาพใก้ลเคียงกับตราสารอนุพันธ์ใน CEX อย่างมาก ในปีหน้าจึงมีโอกาสที่นักเทรดจะได้ลงทุนในตราสารอนุพันธ์บน DeFi กันอย่างมาก

Synthetic Asset จะเติบโตขึ้น

สินทรัพย์สังเคราะห์ (Synthetic Asset) เป็นหนึ่งใน DeFi Protocol ที่มีโอกาสเติบโตจากการที่นักเทรดจะได้มีทางเลือกในการลงทุนในสินทรัพย์จากโลกดั้งเดิมเช่น หุ้น สินค้าโภคภัณฑ์ ในรูปแบบของ DeFi โดยปัจจุบันยังมีเพียงแค่ไม่กี่ Protocol ที่ลงมาจับโปรดักต์ดังกล่าวและยังมีข้อบกพร่องอยู่พอสมควร แต่ในปีหน้าคาดว่าสินทรัพย์สังเคราะห์น่าจะเติบโตพร้อมกับ Asset Management หรือ Protocol ด้านการจัดการกองทุนในโลกของ DeFi

สถาบันการเงินจะมุ่งหน้าสู่ DeFi

ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาในปี 2022 คือการที่สถาบันการเงินดั้งเดิมหรือธนาคารจะเข้ามามีส่วนร่วมใน DeFi ไม่ว่าจะเป็นการซื้อกิจการหรือเป็นพันธมิตรกับผู้พัฒนา เพื่อเข้ามาศึกษาทางด้านเทคโนโลยีและป้องกันตัวเองก่อนที่จะถูก Disrupt โดยเริ่มเห็นสัญญาณของกองทุนวีซีที่เข้ามาลงทุนใน DeFi Protocol ต่าง ๆ มากขึ้น ปีหน้าจึงมีโอกาสได้เห็นการรุกเข้ามาของ Traditional Fiance มายัง DeFi ค่อนข้างแน่ชัด

การที่กระแส DeFi เงียบลงไปช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อที่จะกลับไปปิดจุดอ่อนที่เคยเกิดขึ้นใน Layer1 เชื่อว่าปี 2022 เราน่าจะได้เห็นการเติบโตของ DeFi ที่มีความสมบูรณ์แบบมากขึ้นซึ่งอาจจะสวนทางกับ NFT Games ที่มาแรงในปีนี้

นเรศ เหล่าพรรณราย ซีอีโอ Ricco Wealth,เลขาธิการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย